คนรวย

‘Richsplaining’ เมื่อคนรวย ทำตัวเป็นไลฟ์โค้ช สอนการใช้ชีวิต ให้กับคนจน

ในหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำพูดปลุกใจ หรือชี้ช่องรวย ส่วนใหญ่แล้วนั้น คนพูดมักจะเป็นคนมีอันจะกินหรือ ไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยเข้าใจหัวอก ของคนที่อยู่ในสถานะทางการเงิน ที่ย่ำแย่ แล้วหากใครที่ได้เจอกับคำแนะนำ เกี่ยวกับการจัดการ ทางการเงิน เช่น เลิกกินกาแฟซิ หางานเสริมซิ มะนาวแพงก็ใช้มะม่วงแทนซิ

จากคำแนะนำข้างต้นนี้ ทำให้ผู้ฟังหลายท่านรู้สึกได้ว่า ผู้พูดไม่มีประสบการณ์ร่วมกับเราเลย และมันค่อนข้างที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ กับคนทั่วโลก จนชาวเน็ต ได้มีการบัญญัติศัพท์กันเอง ขึ้นมาเอง ว่า ‘Richsplaining’ โดยคำศัพท์นี้ ได้เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ Reddit โดยมีคำจำกัดความ ที่โผล่ขึ้นมานั้นก็ คือ patronizing เมื่อคนที่ไม่ได้มีฐานะยากจน มาให้คำแนะนำกับคุณ แบบยกตนข่มท่าน

ซึ่งเป็นการบิดมาจาก mansplaining คำที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของผู้ชาย ที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องใดๆ โดยมุมมองของความเป็นชายล้วนๆ ว่าแต่ทำไมเรื่องแบบเดียวๆ กัน ในรูปแบบที่เหมือนกันถึงเกิดขึ้นไม่ว่าจะในสังคมไหน? ทำไมคนที่อยู่ภายนอกดู ‘รู้มาก’ และรู้สึกว่าพวกเขาสามารถหาทางออกให้กับคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานการณ์อื่นได้มากกว่าเจ้าตัว?

คนรวย

สิ่งที่อาจช่วยในการทำความเข้าใจเรื่องนี้คือทฤษฎี Psychological Distance หรือระยะห่างทางจิตใจ

โดยทฤษฎีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยยาโคฟ โทรป (Yaacov Trope) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และนิรา ลิเบอร์แมน (Nira Liberman) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ โดยแรกเริ่มแล้วระยะห่างทางจิตใจใช้อธิบายมุมมองที่แตกต่างต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเมื่อมองมันผ่านช่วงเวลาและยุคสมัยที่แตกต่าง

หลังจากนั้นมีการศึกษาเพิ่มเติม โดยนักวิจัยมากมายที่ครอบคลุมมันไปถึง ระยะห่างที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่แตกต่าง หรือการสร้างระยะห่าง จากคนที่เรามองว่ามีลักษณะไม่เท่ากับเราอีกด้วย การสร้างระยะห่างดังกล่าวถูกยกมาเป็นวิธีการที่ดีในการช่วยตัดสินใจเมื่อมีโจทย์ที่ต้องแก้ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกส่วนตัวของเรา

เพราะบางครั้งในการตัดสินใจบางโจทย์นั้นเราต้องอาศัยการมองภาพกว้าง และเมื่อเรื่องเหล่านั้นเชื่อมโยงกับความรู้สึกของเราการมองภาพกว้างอาจเป็นไปไม่ได้ การสร้างระยะห่างดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในหลายสถานการณ์

แต่การสร้างระยะห่างเช่นนั้นอาจใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง

เช่นเดียวกันกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การจัดการการเงินมีปัจจัยหลากหลายที่ต้องคำนึงถึง อาจจะประเทศที่เราอาศัยอยู่ ฐานะครอบครัวที่ถูกกำหนดตั้งแต่ก่อนเกิด บรรทัดฐานในการทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ เงินฝืดเงินเฟ้อ ฯลฯ ซึ่งเมื่อลองไล่มาแล้ว เราอาจพบว่าการสร้างระยะห่างออกจากปัจจัยเหล่านั้นระหว่าง คนจนและคนรวย อาจไม่ได้ทำให้เกิดการมองภาพกว้าง

แต่เป็นการมองไม่กว้างพอ และเพ่งเล็งไปยังแผนการในอนาคต และการกระทำในปัจจุบันเท่านั้นซึ่งไม่เล่าเรื่องทั้งหมด ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราอาจต้องพูดถึงหนึ่งในไลฟ์โค้ชชื่อดังที่สุดในโลกคนหนึ่งอย่างแกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า Garyvee มหาเศรษฐีผู้มีธุรกิจในด้านการสื่อสารและขึ้นพูดในเวทีมากมาย

เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจและการเงิน โดยเขามักเล่าว่าการเติบโต ของเขาจากการเป็นผู้อพยพในสหรัฐอเมริกาสู่การเป็นตัวของเขาในปัจจุบัน เริ่มจากการเก็บดอกไม้ในสวนของคนอื่นไปขาย และวัยเด็กของเขา เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงาน เมื่อพ่อบังคับให้เขาเป็นคนแพคน้ำแข็งในร้านขายเหล้าตั้งแต่วัยสิบสี่ปี

หากจะให้สรุปหลักคิดของเขา เขาเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะสามารถนำไปสู่ความสำเร็จคือการทำงานอย่างยากเข็ญ และสิ่งที่แย่กว่าการเกิดขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีเงินคือการเกิดขึ้นมาในครอบครัวที่มีมรดก ‘ผมอยากเกิดมามีเงิน 0 ดอลมากกว่า 100 ล้านดอล…ผมคุยกับลูกมหาเศรษฐี พวกเขาเศร้า’ เขาพูดต่อ ‘พวกเขาคิดว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรในแปดสิบปีที่เขามีชีวิต

จะไม่มีใครคิดว่านั่นคือความสำเร็จของเขาเอง…คุณคิดว่านั่นนำไปสู่โรคซึมเศร้า โคเคน และการปาร์ตี้จนตายมากขนาดไหน?’

และนี่คือจุดที่เขาใช้จี้กลุ่มคนที่เขาพูดถึง ด้วยแนวคิดว่าหากไม่อยากตกลงไปสู่หลุมของความเศร้าหมอง พวกเขาต้องขยันมากขึ้น และหากไม่รู้สึกถึงความยากเข็ญก็สร้างมันขึ้นมา หนึ่งในคำพูดที่ดังที่สุดของเขาเกิดขึ้นเมื่อถึงช่วงถามคำถามบนเวทีโค้ชของเขา ผู้หญิงคนหนึ่งถามหาวิธีสร้างแรงผลักดันของเขา เขาให้คำตอบว่า ‘ใครคือคนที่คุณรักที่สุดในชีวิต?…ทุกวัน

ใช้เวลาห้านาทีลองจินตนาการว่าคนคนนั้นโดนยิงหัว’ โดยเขาอธิบายว่านั่นคือสิ่งที่เขาทำเพื่อนำไปสู่ความสุขที่เขามีทุกวันนี้ เราคงพูดไม่ได้ว่าความขยัน และทักษะของแกรี่ไม่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของเขาเลย แต่สิ่งที่เขามักลืมพูดถึงคือบริบทรอบๆ ชีวิตของเขาว่านอกจากการเริ่มทำงาน ตั้งแต่วัยเด็กที่บ้านของเขามีธุรกิจขายไวน์ที่มั่นคงอยู่แล้วก่อนแล้ว

และแม้ว่าเขาจะมีส่วนในการขยายอาณาจักรดังกล่าว ระยะห่างของเขาจากความยากจนนั้นอาจทำให้คำแนะนำหลายๆ อย่างของเขาไม่สะท้อนการใช้ชีวิตของคนจนจริงๆ ก็เป็นได้ และในฐานะชนชั้นกลางลงไป เมื่อเราเห็นคลิปคำแนะนำ โดยไลฟ์โค้ชว่าคนอดตายในช่วงโควิดเพราะความขาดวินัย และความไม่กล้าปรับตัวในยุคหลังโควิด

ความรู้สึกแรกต่อมันคงไม่นึกถึงพระผู้มาโปรด แต่เป็นคนที่ไม่เอาปัจจัยอื่นๆ ของชีวิต เช่น การเข้าถึงและการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ต้นทุน หรือแม้แต่การจัดการ work-life-balance ใหม่ของคนคนหนึ่ง เข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่ง ของการจัดการธุรกิจของเรามากกว่า แต่นอกจากความหงุดหงิด และรำคาญใจที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินเรื่องเหล่านี้แล้ว

อีกสิ่งที่เป็นปัญหาคือ มันสร้างภาพจำต่อสังคมให้กับคนที่มีข้อจำกัดทางการเงินอีกด้วย ไม่นานมานี้มีการถกเถียงกันเรื่องราคาตั๋วหนังและมุมมองว่าความบันเทิงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยหรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เราเห็นโดยไม่ขาดสายจากคนรวย ในปี ค.ศ.2015 ในบทสนทนากับเว็บไซต์ The Telegraph จีน่า ไรน์ฮาร์ท (Gina Rinehart)

เศรษฐีนีชาวออสเตรเลีย ทายาทธุรกิจเหมือง Hancock Prospecting และในขณะนั้นเจ้าของตำแหน่งหญิงผู้รวยที่สุดในโลก กล่าวว่าเหตุผลที่พาเธอมายืนอยู่ในจุดที่เธอยืนอยู่ทุกวันนี้ได้ก็เพราะเธอไม่ได้เอาเงินและเวลาของเธอไปลงกับการสูบบุหรี่และการกินเหล้า พร้อมกับเรียกคนจนว่าเป็นคนขี้อิจฉาและขี้บ่นมากเกินไป

ขอบคุณแหล่งที่มา : thematter.co

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : driverplanner.com